สถานที่ท่องเที่ยว

ข้อมูลสถานที่สำคัญของตำบล :

1.โบราณสถานวัดพระธาตุสามดวง

วัดพระธาตุสามดวง เดิม ชื่อพระเจดีย์สามองค์ หรือที่เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “พระธาตุสามดวง” ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่หมู่บ้านดงเคียน หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยยางขาม อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอจุน ไปทางทิศเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นเนินดินเตี้ย ๆ ถือเป็นพุทธศาสนาที่เก่าแก่ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด เดิมเป็นสถานที่ร้างโดยมีซากเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐโบราณจำนวนสามองค์ และพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินศิลาแลงชำรุดทรุดโทรมปรักหักพังอยู่เป็นจำนวนมาก ตามหลักฐาน คือ เศษอิฐที่ปรากฏอยู่ สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปีขึ้นไป ภายหลังได้มีการลักลอบนำเอาซากพระพุทธรูปเหล่านั้นไปหมด คงเหลือแต่ซากพระเจดีย์ (พระธาตุ) ที่พังทลายอยู่
วัดพระธาตุสามดวงมีความสำคัญต่อชุมชนตำบลห้วยยางขาม เป็นโบราณสถานที่สำคัญแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรม – ประเพณีในอดีตได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลห้วยยางขาม และอำเภอจุน อีกทั้งมีอาณาบริเวณใกล้กับ “ม่อนหินเขียว” ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรหินสีเขียวมรกต และ “ม่อนหินดำ” เป็นแหล่งทรัพยากรหินสีดำนิล ในทุกปีตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ จะจัดให้มีพิธีสรงน้ำพระธาตุเป็นประจำทุกปีอีกด้วย
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
1. เป็นพระเจดีย์ สามองค์ สถานที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและขุนเขา
2. บริเวณติดต่อกับแหล่งทรัพยากรม่อนหิวเขียว และม่อนหิวดำสนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
1. องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางขาม หมู่ 6 ตำบลห้วยยางขาม อำเภอจุน จังหวัดพะเยา โทรศัพท์ , โทรสาร 0-54442-0676
2. วัดพระธาตุสามดวง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยยางขาม อำเภอจุน จังหวัดพะเยา
การเดินจากทางหลวงหมายเลข 1021 สายพะเยา – เชียงคำ – เชียงราย ผ่านบ้านห้วยยางยาม มีทางเข้าซอยวัดห้วยยางขาม ตรงข้ามกับตลาดสดบ้านห้วยยางขาม ซอยติดกับหน่วยบริการประชาชนตำบบห้อยยางขาม(ป้อมตำรวจ) เดินทางเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร


2.อ่างเก็บน้ำห้วยยางขาม

   อ่างเก็บน้ำห้วยยางขาม ตั้งอยู่บ้านดงเคียน หมู่ที่ 3 ต.ห้วยยางขาม ช่วงเดือนเมษายน ของทุกปีจะเปิดให้เล่นน้ำคลายร้อน โดยมีกิจกรรมทางน้ำมากมาย เช่น ซุ้มพักผ่อน เรือนแพ นั่งเรือชมวิว ขี่ม้ารอบอ่าง ปั่นจักรยานรอบอ่าง สำรวจป่า ดูนก สัตว์ป่า เป็นต้น

3. พระธาตุตำหนักธรรม

     
พระธาตุตำหนักธรรม ตั้งอยู่ที่ดินสาธารณะประโยชน์ หมู่ที่ 4 บ้านห้วยยางขามเหนือ ตำบลห้วยยางขาม อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นอักษรว่าสร้างมาแต่สมัยใด แต่จะเทียบหลักฐานของซากโบราณสถานและวัตถุโบราณที่พบบริเวณนี้แล้วจะถือได้ว่าเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นร่วมสมัยกับเมืองลอและเมืองโบราณในหลาย ๆ แห่งในจังหวัดพะเยา

จากคำบอกเล่าผู้ที่เคยพบเห็นมาก่อนว่า ลักษณะขององค์พระธาตุเจดีย์จะเป็นรูปทรงแบบศิลปะของเชียงแสน และองค์พระพุทธรูปที่เป็นแบบหินทรายศิลปะช่างพะเยา อันได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย ที่ผ่านเข้ามาทางพม่าอีกที่หนึ่ง ซึ่งมีพบมากมายทั้งที่เป็นองค์เล็กและองค์ใหญ่ ซึ่งจะอยู่ในราวพุทธสตวรรษที่ 18 ลักษณะสภาพของวดโบราณของที่ตั้ง องค์พระธาตุประจำตำบลห้วยยางขามปัจจุบันนี้นั้นมีการจัดรูปแบบอันงดงามตามแบบโบราณล้านนา โดยจะแบ่งเป็น 2 เขต ได้แก่
1.เขตพุทธวาสอันประกอบด้วยพระวิหารและองค์พระธาตุเจ้าเจดีย์ล้อมด้วยกำแพงแก้วและมีสุ้มเดินเข้าออก 2 ทิศ คือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ภายในบริเวณปูด้วยก้อนอิฐเต็มหมดอิฐบางก้อนลงน้ำเคลือบสวยงามมาก
2.เขตสิมาวาสอันมีอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก จะมีหมู่กุฎิพระสงฆ์ ด้านเหนือจะมีหอระฆัง – หอกลอง แต่ละอย่างจะก่อข้างด้วยก้อนอิฐ ฐานล่างของเสาวิหารจะเป็นหินทรายแกะมุงหลังคาด้วยดินสอ
จากหลักฐานเหล่านี้พอจะสันนิษฐานได้ว่า พระธาตุตำหนักธรรมจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 18 – 19 อันอยู่ในยุคเดียวกันเวียงลอ ซึ่งในบริเวณหมู่บ้านยางขามยังมีซากวัดโบราณอีก 3 แห่ง จึงถือได้ว่าที่แห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนอาจจะเป็นเมืองรอบนอกหรือเมืองลูกหลวงของเมืองลออีกแห่งหนึ่ง
ต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2538 เจ้าอธิการหน่อแก้ว ถาวรธัมโม เจ้าคณะตำบลห้วยยางขามพร้อมคณะสงฆ์ตำบลห้วยยางขามและกำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมทั้งศรัทธาประชาชนในตำบลห้วยยางขามได้ร่วมกันสร้างองค์พระธาตุเจ้าครอบองค์เดิมอีกทีหนึ่ง ก่อนมีการปรับแต่งบริเวณนี้ได้พบ ผอบหินทรายขนาดใหญ่ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปสัมริตปิดทองอีก 2 องค์ ต่อมาจึงได้ทำพิธีบรรจุกลับลงไปในองค์พระธาตุดังเดิมในวันวิสาขบูชา พ.ศ. 2540
สำหรับลักษณะองค์พระธาตุบรรจุเป็นแบบ 2 ชั้นยกสูงสร้างแบบศิลปล้านนาเป็นพระธาตุเจดีย์ล้านนาทรงเครื่อง ทั้ง 4 ด้านมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ มี 5 ยอด ปิดกระจกสีทองทั้ง 5 ยอด มีบันไดขึ้นลง 4 ทิศ
ทุกปีในวันเดือน 6 เหนือ เดือน 4 ได้ ขึ้น 15 ค่ำของทุกปีจะมีประเพณีสรงน้ำองค์พระธาตุโดยมีขบวนแห่บวงสรวงจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลห้วยยางขามเพื่อเป็นการสักการะบูชาต่อองค์พระธาตุเจ้าเป็นประจำทุกปี

4.ม่อนหินเขียว

   ตั้งอยู่ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ มีการขุดค้นพบหินสีเขียวมรกตอยู่เป็นจำนวนมาก  ถ้าเดินทางขึ้นตามสันเขาขึ้นไปสูงอีกหน่อย จะพบกับจุดชมวิว “ผากากซาก” ที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์อันสวยงามของตำบลห้วยยางขามได้เป็นอย่างดี

5.ไหว้พระหินเขียว 1,000 องค์ วัดบุญเรือง

“ไหว้พระ 1,000 องค์” ซึ่ง “พระครูสุจิณรัตนคุณ” เจ้าอาวาสวัดบุญเรืองได้ให้ข้อมูลดังต่อไปนี้
   1.อุโบสถวัดบุญเรือง ก่อสร้างตามศิลปะทรงล้านนา ประกอบด้วยพระธาตุเก้ายอดทรงล้านนา ประดับด้วย ซุ้มปราสาทเครื่อง ซุ้มพระพิฆเณศ นาค ยักษ์ เทวดา ยักษ์ สิงห์ เป็นต้น
   2.พระประธาน เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องล้านนา ปางมารวิชัยแสดงพุทธานุภาพต่อพญาชมพูบดี  เบื้องหลัง กับเบื้องซ้ายและเบื้องขวาพระประธาน ประกอบด้วยซุ้มพระพุทธรูปหินเขียว ซึ่งแกะสลักจากหินเขียวมรกต จากม่อนหินเขียวตำบลห้วยยางขาม จำนวน รวม 1,000 องค์ ซึ่งได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษก เบิกเนตร ไปเมื่อวันที่ 10-11 มิถุนายน 2559
 วัดบุญเรือง ตั้งอยู่ บ้านหัวขัว หมู่ที่ 7  ต.ห้วยยางขาม  อ.จุน  จ.พะเยา

6.วัดห้วยเกี๋ยง

วัดห้วยเกี๋ยง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยยางขาม ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ทั้งในอดีตและปัจจุบันของตำบลห้วยยางขาม ซึ่งแตกต่างจากวัดอื่นๆที่เป็นภาพพุทธประวัติเป็นส่วนใหญ่ ที่ตั้ง หมู่ 5 บ้านห้วยยเกี๋ยง ต.ห้วยยางขาม อ.จุน จ.พะเยา ทางหลวงหมายเลข 1021 จุน-เชียงคำ
s

7. ข่วงนกยูงอ่างเก็บน้ำห้วยยางขาม

ตามนโยบายของจังหวัดพะเยาที่กำหนดให้ “พะเยาเป็นเมืองแห่งนกยูงไทย” เนื่องจากปัจจุบันมีนกยูง      สายพันธุ์ไทยจำนวนมากที่ออกมาหากินในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ  ซึ่งอำเภอจุนร่วมกับชมรมอนุรักษ์นกยูงไทยอำเภอจุน ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ  เพื่อเป็นการสานต่อ และขยายเครือข่ายชุมชนต้นแบบรักษ์นกยูงไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายประชาชนที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์นกยูงในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ของประชาชนให้มีความภาคภูมิใจในระบบนิเวศทางชีวภาพของท้องถิ่นตนเอง  รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอจุน เพราะในช่วงนี้ถือว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอมีสภาพอุดมสมบูรณ์ไปด้วยนกยูง และ ถือว่าเป็นแหล่งที่มีการศึกษาวิจัยพบว่ามีนกอยู่อาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป นกยูงจำนวนมากจะออกมาหากินบริเวณข่วงในพื้นที่อำเภอจุน มากกว่า 20 แห่ง ซึ่งในเขตตำบลห้วยยางขามถือเป็นอีกแหล่งที่นกยูงออกมาหากิน โดยเฉพาะเขตอ่างเก็บน้ำห้วยยางขาม ซึ่งนอกจากจะมีนกยูง    ก็จะมีสัตว์อื่นๆอีกด้วย  เช่น เก้ง  กวาง  ไก่ป่า นกต่างๆ และสัตว์ชนิดอื่นๆ

แต่เมื่อนกยูง สัตว์ป่าและนกต่างๆออกมาหากินในช่วงนี้ จะไปรบกวนต้นข้าวและผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆของเกษตรกร       ที่มีพื้นที่ติดกับเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดสร้างแหล่งอาหารนกยูง  โดยการจัดทำโครงการจัดแปลงพืช  อาหารสัตว์  และข่วงนกยูง  ขึ้น    จากการสำรวจพบว่าบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยยางขาม เป็นแหล่งที่เหมาะสม เพราะมีแหล่งน้ำและมีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า  ดังนั้นจึงต้องมีการปรับภูมิทัศน์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับจัดทำแปลงพืชอาหารสัตว์และข่วงนกยูงต่อไป

 

ติดต่อเรา